คลิกเพื่อรับชมรายละเอียดผลิตภัณฑ์

Play Video

ข้อมูลโครงการ

โครงการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและศึกษาผลกระทบทางสังคม เกี่ยวกับการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำปี 2565

The National Public Hearing of Stakeholders and the Study on Social Impacts of Digital Government Lottery 2022

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง ดำเนินการตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 มีวัตถุประสงค์ (1) ออกสลากกินแบ่งรัฐบาล (2) จัดการโรงพิมพ์อันเป็นอุปกรณ์ในการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล หรือพิมพ์สิ่งพิมพ์อื่นที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ (3) กระทำการอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยในมาตรา 13 (7/1) กำหนดให้ การออกประกาศกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและศึกษาผลกระทบทางสังคม เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาก่อนออกประกาศ รวมทั้งต้องให้ผู้ด้อยโอกาสและคนพิการเข้าถึงการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย ทั้งนี้ตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 กำหนดให้ ในระหว่างที่ยังมิได้มีการออกประกาศกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลตามมาตรา 13(7/1) แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีอำนาจออกสลากกินแบ่งรัฐบาลตามประเภทและรูปแบบที่ดำเนินการอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับต่อไปได้ ของพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

ปัจจุบัน “สลากกินแบ่งรัฐบาล” หรือ “ลอตเตอรี่ (Lottery)” เป็นผลิตภัณฑ์เดียวที่เป็นที่นิยมซื้อของประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการเสี่ยงโชคเพียงอย่างเดียวที่ถูกกฎหมาย ดำเนินงานโดยหน่วยงานของรัฐ มีการออกรางวัลที่ชัดเจนโปร่งใส และมีความแน่นอนในการจ่ายรางวัล อย่างไรก็ตาม การมีผลิตภัณฑ์สลากกินแบ่งรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ทำให้อาจจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการเสี่ยงโชคของประชาชนได้เพียงพอ และเกิดผลกระทบที่ตามมา เช่น ปัญหาการพนันนอกระบบที่มาทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ การเล่นหวยใต้ดิน พนันบอล พนันออนไลน์ และการพนันในรูปแบบอื่นๆ ที่ผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดหนี้สิน เกิดปัญหาต่อครอบครัวและขยายไปสู่ปัญหาสังคม นอกจากนี้ มีอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญและมีความซับซ้อน ต่อเนื่อง นั่นคือปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ซื้อสลาก และภาพลักษณ์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจำเป็นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่องทางการจำหน่ายให้มีความเหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางสังคมและเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาด้วยการนำระบบดิจิทัลมาใช้ ยังตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญต่อการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการปรับปรุงระบบบริการต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นควบคู่กับความพร้อมของสังคมไร้เงินสด ที่จะนำไปสู่การยกระดับการแข่งขันในด้านสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และเพื่อให้การดำเนินงานของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นไปตามมาตรา 13(7/1) แห่งพระราชบัญญัติสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 ที่ให้สำนักงานกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลอื่น ๆ ได้ โดยต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและศึกษาผลกระทบทางสังคม ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 เพื่อนำมาประกอบการพิจารณากำหนดประเภทและรูปแบบของสลากกินแบ่งรัฐบาล ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

  1. เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วนและมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับรูปแบบและผลิตภัณฑ์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
  2. เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และศึกษาผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดประเภท และรูปแบบของสลากกินแบ่งรัฐบาล และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สังกัด กระทรวงการคลัง

พื้นที่ดำเนินการทั่วประเทศ

  1. ปิดประกาศ ณ สถานที่ที่จะดำเนินโครงการ และประกาศข้อมูลที่ต้องเผยแพร่แก่ประชาชนในระบบเครือข่ายสารสนเทศที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจัดให้มีขึ้น และประกาศข้อมูลที่ต้องเผยแพร่ในระบบเครือข่ายสารสนเทศของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2565
  2. จัดให้มีการประชุมร่วมรับฟังข้อมูลและแสดงความคิดเห็นของประชาชน และจัดให้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผ่านทางเครือข่ายสารสนเทศ ผ่านการแสดงความคิดเห็นทางไปรษณีย์ การสัมภาษณ์รายบุคคล การสัมภาษณ์เจาะลึก และผ่านการสนทนากลุ่มย่อย ในระหว่างวันที 20 กรกฎาคม 2565 – 10 สิงหาคม 2565
  3. เมื่อเสร็จสิ้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว จัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และประกาศให้ประชาชนทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เสร็จสิ้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 จนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2565 เวลา 23.59 น.

  1. ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างครบถ้วนและมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประเภทและรูปแบบผลิตภัณฑ์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
  2. ได้ทราบความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงทราบผลกระทบทางสังคมและมาตรการลดผลกระทบตามมาตรา 13(7/1) แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยในปัจจุบันอันเป็นการตอบสนองต่อความต้องการและเป็นทางเลือกของประชาชนที่มากขึ้น รวบรวมเป็นข้อมูลนำมาประกอบการนำเสนอการกำหนดประเภทและรูปแบบต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

  1. กลุ่มผู้ซื้อ ต้องเรียนรู้รูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งวิธีการซื้อสลากในรูปแบบดิจิทัล รวมถึงความกังวลเรื่องความเสถียรของระบบและความปลอดภัยของข้อมูล และการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล แต่ในขณะเดียวกันสลากดิจิทัลอาจทำให้ผู้ซื้อมีความสะดวกและอิสระในการสั่งซื้อสลาก อาจทำให้เกิดพฤติกรรมการซื้อที่เกินกำลังซื้อเกินตัว
  2. กลุ่มผู้ขาย ต้องเรียนรู้วิธีการจำหน่ายสลากดิจิทัล ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการซื้ออุปกรณ์สนับสนุนการจำหน่ายในรูปแบบดิจิทัล
  3. กลุ่มผู้ขายสลากใบ อาจมีรายได้ลดลงในการขายสลากใบ รวมถึงการปรับลดลงของจำนวนสลากฯ แบบใบที่ได้รับ เนื่องจากมีสลากแบบดิจิทัล เข้ามาจำหน่ายควบคู่กัน
  4. กลุ่มผู้ขายที่เป็นผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสอาจจะไม่สามารถเข้าถึงการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากดิจิทัล
  1. เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเภทและรูปแบบสลากฯ รวมถึงวิธีการซื้อและวิธีการจำหน่าย ระบบความปลอดภัยของระบบและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้แก่ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างครบถ้วนผ่านช่องทางต่างๆ
  2. มีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีในการซื้อและวิธีการจำหน่าย การใช้งานอย่างปลอดภัยของระบบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
  3. มีมาตรการในการช่วยเหลือกลุ่มผู้ขายสลากใบในการปรับตัว รวมถึงมีมาตรการสนับสนุนในการเข้าถึงอุปกรณ์สนับสนุนการจำหน่วยสลากในรูปแบบดิจิทัล
  4. มีมาตรการในการทำให้ผู้ด้อยโอกาสและคนพิการเข้าถึงการเป็นตัวแทนจำหน่วยสลากดิจิทัล
  5. มีมาตรการในการจำกัดอายุผู้ซื้อสลากดิจิทัลและมีมาตรการ ในการสร้างการตระหนักรู้ถึงผลเสียของพฤติกรรมการซื้อที่เกินกำลังซื้อ รวมถึงการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนในกรณีที่ผู้ซื้อมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายการซื้อสลากดิจิทัลเกินกำลังซื้อ

จำนวนเงิน : 25,000,000 บาท
ที่มาของเงิน : เงินงบประมาณ สำนักงานสลากฯ

ติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2528 8688,0 2528 9555, 0 2528 9541 - 7, 0 2528 9503 - 7, 0 2528 9532 - 7 และ 0 2528 9511 - 23 และ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ (Call Center) หมายเลขโทรศัพท์ 0 2528 9999 ในวันและเวลาทำการ

วิธีการ

วันเริ่มต้น

วันสิ้นสุด

สถานที่

รายละเอียดอื่นๆ

การรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเครือข่ายสารสนเทศ

20/07/2565

10/08/2565

การสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศผ่านเครือข่ายสารสนเทศ ผ่านเว็บไซต์ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในระบบเครือข่ายสารสนเทศที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผ่านเว็บไซต์สำนักงานสลากฯ www.glo.or.th และ newlottery.glo.or.th และ ผ่าน Facebook : สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล @TheGovernmentLotteryOffice

การรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานภาครัฐทางไปรษณีย์

20/07/2565

10/08/2565

การสำรวจความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กลุ่มตัวแทนหน่วยงานภาครัฐทางไปรษณีย์

การรับฟังความคิดเห็นโดยการสัมภาษณ์เจาะลึก กลุ่มตัวอย่างผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ

20/07/2565

10/08/2565

การสำรวจความคิดเห็นโดยการสัมภาษณ์เจาะลึก กับกลุ่มตัวอย่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ ไม่น้อยกว่า 10 ตัวอย่าง

รับฟังความคิดเห็นโดยการสัมภาษณ์รายบุคคลแบบมีโครงสร้าง

20/07/2565

10/08/2565

จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดเลย จังหวัดนครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร

การสำรวจความคิดเห็นโดยการสัมภาษณ์รายบุคคลแบบมีโครงสร้าง (structured questionnaire) กับผู้ให้คำตอบโดยตรง

ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ชลบุรี ขอนแก่น เลย นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร

การประชุมรับฟังความคิดเห็นและการสนทนากลุ่มย่อย (พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่)

20/07/2565

20/07/2565

โรงแรม
กรีนนิมมาน เชียงใหม่

การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1
(พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่) วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ร่วมประชุมรับฟังและแสดงคิดเห็น เวลา 09.30-12.00 น. และการสนทนากลุ่มย่อย เวลา 13.30-16.00 น.

การประชุมรับฟังความคิดเห็นและการสนทนากลุ่มย่อย (พื้นที่จังหวัดชลบุรี)

24/07/2565

24/07/2565

โรงแรม Bangsaen Heritage Hotelชลบุรี

การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2

(พื้นที่จังหวัดชลบุรี) วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ร่วมประชุมรับฟังและแสดงคิดเห็น เวลา 09.30-12.00 น. และการสนทนากลุ่มย่อย เวลา 13.30-16.00 น.

การประชุมรับฟังความคิดเห็นและการสนทนากลุ่มย่อย (พื้นที่จังหวัดขอนแก่น)

27/07/2565

27/07/2565

โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น

การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3

(พื้นที่จังหวัดขอนแก่น) วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ร่วมประชุมรับฟังและแสดงคิดเห็น เวลา 09.30-12.00 น. และการสนทนากลุ่มย่อย เวลา 13.30-16.00 น.

การประชุมรับฟังความคิดเห็นและการสนทนากลุ่มย่อย

(พื้นที่จังหวัดเลย)

04/08/2565

04/08/2565

โรงแรมเลยพาเลส

การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 4

(พื้นที่จังหวัดเลย) วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ร่วมประชุมรับฟังและแสดงคิดเห็น เวลา 09.30-12.00 น. และการสนทนากลุ่มย่อย เวลา 13.30-16.00 น. ณ

การประชุมรับฟังความคิดเห็นและการสนทนากลุ่มย่อย

(พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช)

06/08/2565

06/08/2565

โรงแรมทวินโลตัส

นครศรีธรรมราช

การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 5

(พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช) วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ร่วมประชุมรับฟังและแสดงคิดเห็น เวลา 09.30-12.00 น. และการสนทนากลุ่มย่อย เวลา 13.30-16.00 น.
ณ นครศรีธรรมราช

การประชุมรับฟังความคิดเห็นและการสนทนากลุ่มย่อย (พื้นที่กรุงเทพมหานคร)

09/08/2565

09/08/2565

โรงแรม

Miracle Grand Convention Hotel

การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 6

(พื้นที่กรุงเทพมหานคร) วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ร่วมประชุมรับฟังและแสดงคิดเห็น เวลา 09.30-12.00 น. และการสนทนากลุ่มย่อย เวลา 13.30-16.00 น.

การกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำปี 2565

          ตามมาตรา 13 (7/1) แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดไว้ว่า การออกประกาศกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและศึกษาผลกระทบทางสังคม เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาก่อนออกประกาศ รวมทั้งต้องให้ผู้ด้อยโอกาสและคนพิการเข้าถึงการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย  เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงได้กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล ดังนี้

ประเภทสลากกินแบ่งรัฐบาล
          ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดไว้ว่า เงินที่จัดสรรไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลตามมาตรา 22(1) หากการออกรางวัลในงวดใดไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัล จะนำเงินที่จัดสรรไว้ไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไปก็ได้แต่ไม่เกินหนึ่งงวด โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ เงินที่ได้นำไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไป ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลดังกล่าว ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

          เงินที่จัดสรรไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลตามมาตรา 22(1) ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลและไม่ได้นำไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไปตามวรรคหนึ่ง ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
          เงินที่จัดสรรไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลตามมาตรา 22(1) ที่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัล แต่ผู้นั้นไม่มาขอรับเงินรางวัลภายในกำหนดอายุความตามมาตรา 37 ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

การกำหนดประเภทสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงกำหนดได้ 2 ประเภท คือ

  1. ประเภทสมทบเงินรางวัล
    เงินที่จัดสรรไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลตามมาตรา 26  แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัล จะนำเงินที่จัดสรรไว้ไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไปก็ได้แต่ไม่เกินหนึ่งงวด เงินที่ได้นำไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไป ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลดังกล่าว ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
  1. ประเภทไม่สมทบเงินรางวัล
    เงินที่จัดสรรไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลตามมาตรา 26  แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลและไม่ได้นำไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไปตามวรรคหนึ่ง ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

รูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล
          จากการศึกษารูปแบบผลิตภัณฑ์สลากกินแบ่งรัฐบาล ที่เหมาะสมกับบริบทและสภาพสังคมของประเทศไทย สำนักงานจึงได้กำหนดรูปแบบผลิตภัณฑ์ จำนวน 2 รูปแบบ ดังนี้

สลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก (LOTTERY 6 : L6)

Play Video

สลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก หรือ LOTTERY 6 หรือ L6

          ไม่สมทบเงินรางวัล หากการออกรางวัลในงวดใดไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัล และไม่ได้นำไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไป ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

          สามารถเลือกสลาก 1 หมายเลขต่อ ฉบับ/รายการ ประกอบด้วย หมายเลข 6 หลัก ตั้งแต่ 000000-999999 ที่ปรากฎอยู่บนใบสลากหรือบนระบบดิจิทัล ต่อ 1 ฉบับ/รายการ

จำกัดอายุผู้ซื้อ-ผู้ขาย 20 ปี ขึ้นไป

          กำหนดการจัดสรรเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลในแต่ละงวด ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้

  1. ร้อยละ 60 เป็นเงินรางวัล
  2. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 23 เป็นรายได้แผ่นดิน
  3. ไม่เกินกว่าร้อยละ 17 เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน

          สลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก จะจำหน่ายออกเป็นชุด ชุดละ 1,000,000 ฉบับ/รายการ แต่ละฉบับ/รายการ ประกอบด้วย หมายเลข 6 หลัก ตั้งแต่ 000000-999999 ในแต่ละชุดเป็นการกำหนดหมายเลขไว้ล่วงหน้า (มีหมายเลขจำกัด) ไม่สามารถเลือกเลขซ้ำกันได้ การจัดสรรรางวัลในแต่ละชุด มี 9 รางวัล จำนวนรางวัลทั้งหมด 14,168 รางวัลต่อสลาก 1 ชุด ดังนี้

รางวัลอัตรารางวัลต่อ 1 ชุด
(1,000,000 ฉบับ/รายการ)

จำนวนรางวัล

ร้อยละของ
เงินรางวัล 60%

รางวัลที่ 1

1

12.50%

รางวัลข้างเคียงรางวัลที่ 1

2

0.42%

รางวัลที่ 2

5

2.08%

รางวัลที่ 3

10

1.67%

รางวัลที่ 4

50

4.17%

รางวัลที่ 5

100

4.17%

รางวัลเลขหน้า 3 ตัว

2,000

16.66%

รางวัลเลขท้าย 3 ตัว

2,000

16.66%

รางวัลเลขท้าย 2 ตัว

10,000

41.67%

รวมทั้งสิ้น

14,168

100.00%

สลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก จะมีสลาก 2 แบบ คือ

  1. สลากแบบใบ เป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มีการพิมพ์ออกมาเป็นใบ โดยมีการพิมพ์หมายเลขสลากกำกับไว้บนใบสลาก
  2. สลากแบบดิจิทัล เป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่มีการกำหนดหมายเลขสลากกำกับไว้ในระบบดิจิทัล ออกจำหน่ายผ่านช่องทางดิจิทัล

ออกรางวัล เดือนละ 2 ครั้ง คือวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน

          เงินรางวัลร้อยละ 60 ของยอดการจำหน่ายสลากรวมในแต่ละงวด กำหนดสัดส่วน ในการจัดสรรเงินรางวัล คือ รางวัลที่ 1 ร้อยละ 12.50 รางวัลข้างเคียงรางวัลที่ 1 ร้อยละ 0.42 รางวัลที่ 2 ร้อยละ 2.08 รางวัลที่ 3 ร้อยละ 1.67 รางวัลที่ 4 ร้อยละ 4.17  รางวัลที่ 5 ร้อยละ 4.17 รางวัลเลขหน้า 3 ตัว ร้อยละ 16.66 รางวัลเลขท้าย 3 ตัว ร้อยละ 16.66 รางวัลเลขท้าย 2 ตัว ร้อยละ 41.67 เงินรางวัลจ่ายแบบผันแปรตามยอดการจำหน่ายสลาก สลาก 1 ชุด มี 1,000,000 ฉบับ/รายการ และหากจำหน่ายสลากไม่หมด กำหนดเงินรางวัลต่อชุด เงินรางวัลหนึ่ง ๆ ต้องลดลงตามส่วน แต่ต้องให้ครบ ร้อยละ 60 ของยอดการจำหน่าย

          ผู้ถูกรางวัลได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ต้องชำระอากรแสตมป์ใบรับรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ในอัตรา 200 บาท หรือเศษของ 200 บาท ต่ออากรแสตมป์ 1 บาท ตามประมวลรัษฎากร (อัตราส่วนค่าอากรแสตมป์ 0.50 บาท ต่อเงินรางวัล 100 บาท หรือเศษของ 100 บาท)

สลากกินแบ่งรัฐบาล ตัวเลข 3 หลัก (NUMBERS 3 : N3)

Play Video

สลากกินแบ่งรัฐบาล ตัวเลข 3 หลัก หรือ NUMBERS 3 หรือ N3

          สมทบเงินรางวัล หากการออกรางวัลในงวดใดไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัล จะนำเงินที่จัดสรรไว้ไปสมทบเพื่อจ่ายเป็น เงินรางวัลในงวดถัดไปก็ได้แต่ไม่เกินหนึ่งงวด ทั้งนี้ เงินที่ได้นำไปสมทบเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลในงวดถัดไป ถ้าไม่มีผู้มีสิทธิเรียกร้องเงินรางวัลดังกล่าว ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

          สามารถเลือกหมายเลขตั้งแต่ 000 ถึง 999 จำนวน 1 หมายเลขต่อการเลือกซื้อสลาก 1 รายการ  การซื้อทุก ๆ 1 รายการ จะได้หมายเลขรางวัลพิเศษ 1 หมายเลข ซื้อสลาก 1 รายการ มีสิทธิลุ้นทุกรางวัล

จำกัดอายุผู้ซื้อ-ผู้ขาย 20 ปี ขึ้นไป

          กำหนดการจัดสรรเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลในแต่ละงวด ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้

  1. ร้อยละ 60 เป็นเงินรางวัล
  2. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 23 เป็นรายได้แผ่นดิน
  3. ไม่เกินกว่าร้อยละ 17 เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน

          กำหนด 4 รางวัล ได้แก่ รางวัลสามตรง (ตรงเลข-ตรงหลัก) คือ ตัวเลขที่เลือกตรงกับผลการออกรางวัล และหลักตรงกัน รางวัลสามสลับหลัก (ตรงเลข-สลับหลัก) คือ เลขที่เลือกตรงกับผลการออกรางวัลแต่ละหลักสลับกัน และรางวัลสองตรง (ตรงเลข-ตรงหลัก) คือ ตัวเลขที่เลือกตรงกับผลการออกรางวัลและหลักตรงกัน และรางวัลพิเศษ และกำหนดสัดส่วนเงินรางวัลร้อยละ 60 ของยอดการจำหน่ายสลากรวมในแต่ละงวด กำหนดสัดส่วนในการจัดสรรเงินรางวัลคือ รางวัลสามตรง ร้อยละ 30 รางวัลสามสลับหลัก ร้อยละ 30 รางวัลสองตรง ร้อยละ 39 และรางวัลพิเศษ ร้อยละ 1 โดยกำหนดอัตราการจ่ายเงินรางวัลให้กับผู้ถูกรางวัลแต่ละรางวัล ให้ครบร้อยละ 60 ตามมาตรา 22(1)

รางวัล

เงื่อนไขการถูกรางวัล

สัดส่วนเงินรางวัล

รางวัลสามตรง

ถูกทุกหมายเลขและทุกตำแหน่ง

30%

รางวัลสามสลับหลัก

ถูกทุกหมายเลข แต่สลับตำแหน่ง

30%

รางวัลสองตรง

ถูกทุกหมายเลขและทุกตำแหน่ง

39%

รางวัลพิเศษ

จับรางวัลพิเศษ

1%

 

          สลากกินแบ่งรัฐบาล ตัวเลข 3 หลัก เป็นสลากแบบดิจิทัล ไม่มีการกำหนดหมายเลขสลากกำกับไว้ในระบบดิจิทัล ผู้ซื้อสามารถเลือกหมายเลขที่ตนเองต้องการได้ทุกหมายเลข ตั้งแต่ 000 – 999 ออกจำหน่ายผ่านช่องทางดิจิทัล

ออกรางวัล เดือนละ 2 ครั้ง คือวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน

          เงินรางวัลร้อยละ 60 ของยอดการจำหน่ายสลากรวมในแต่ละงวด กำหนดจ่ายเงินรางวัลแบบผันแปรในแต่ละรางวัล ยกเว้นรางวัลพิเศษ เงินรางวัลจ่ายเป็นจำนวนเต็ม เศษของเงินรางวัลทุกรางวัล จะนำไปรวมกับรางวัลพิเศษ ดังนี้

  1. รางวัลสามตรง จ่ายแบบผันแปร จากเงินรางวัลที่ได้รับจัดสรรร้อยละ 30 ให้กับผู้ถูกรางวัลตามจำนวนผู้ถูกรางวัลสามตรง ในอัตราจ่ายเท่ากันทุกราย เป็นเงินจำนวนเต็มไม่มีเศษ (ปัดเศษทิ้ง) และนำเศษที่เหลือ นำไปรวมสมทบกับรางวัลพิเศษ
  2. รางวัลสามสลับหลัก จ่ายแบบผันแปร จากเงินรางวัลที่ได้รับจัดสรรร้อยละ 30 ให้กับผู้ถูกรางวัลตามจำนวนผู้ถูกรางวัลสามสลับหลัก ในอัตราจ่ายเท่ากันทุกราย เป็นเงินจำนวนเต็มไม่มีเศษ (ปัดเศษทิ้ง) และนำเศษที่เหลือ นำไปรวมสมทบกับรางวัลพิเศษ
  3. รางวัลสองตรง จ่ายแบบผันแปร จากเงินรางวัลที่ได้รับจัดสรรร้อยละ 39 ให้กับผู้ถูกรางวัลตามจำนวนผู้ถูกรางวัลสองตรง ในอัตราจ่ายเท่ากันทุกราย เป็นเงินจำนวนเต็มไม่มีเศษ (ปัดเศษทิ้ง) และนำเศษที่เหลือ นำไปรวมสมทบกับรางวัลพิเศษ
  4. รางวัลพิเศษ จ่ายจากเงินรางวัลที่ได้รับจัดสรรร้อยละ 1 และเศษของเงินรางวัลที่ถูกนำมาสมทบให้กับผู้ถูกรางวัลตามจำนวนผู้ถูกรางวัลพิเศษ
  5. ผู้ถูกรางวัลได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ต้องชำระอากรแสตมป์ใบรับรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ในอัตรา 200 บาท หรือเศษของ 200 บาท ต่ออากรแสตมป์ 1 บาท ตามประมวลรัษฎากร (อัตราส่วนค่าอากรแสตมป์ 0.50 บาท ต่อเงินรางวัล 100 บาท หรือเศษของ 100 บาท)

ขั้นตอนการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก (L6)

ขั้นตอนการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล ตัวเลข 3 หลัก (N3)